ประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2551 อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 3 วาระ (พ.ศ. 2540-พ.ศ. 2551)
ประภัสร์ จงสงวน จบการศึกษาจากระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อ พ.ศ. 2521 จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาอาชญวิทยา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท (California State University) สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2524
เดิมทีเขาต้องการเป็นตำรวจสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากมารดาเรียกตัวกลับไทย ประภัสร์ตระหนักดีถึงชีวิตราชการตำรวจไทย เขาจึงหันไปทำงานด้านกฎหมาย โดยทำงานที่สำนักงานกฎหมาย ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทำคดีเกี่ยวกับภาครัฐ โดยเฉพาะกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จนได้รู้จักกับ เจ้าพนักงานอัยการ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ประภัสร์ได้เข้ามาทำงานที่การทางพิเศษฯ ตามคำชวนของอัยการจุลสิงห์ ในตำแหน่งนิติกร 7 และได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองนิติการในอีก 3 ปีถัดมา ซึ่งในตำแหน่งนี้เอง ผลงานของประภัสร์เป็นที่โดดเด่นอย่างมาก จนรัฐบาลได้ยืมตัวประภัสร์เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ในด้านระบบขนส่งมวลชน สมัยรัฐบาลชวน 1
เขาทำงานที่การทางพิเศษฯ จนได้ขึ้นเป็น รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นตำแหน่งสุดท้าย จนถึง ปี พ.ศ. 2540 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) รับผิดชอบงานโครงการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ประภัสร์ในวัยเพียง 42 ปี ของการเข้ามารับตำแหน่งผู้บริการสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ถือว่ายังอายุน้อยมาก และด้วยความที่เขาไม่ได้จบด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทำให้เขาถูกสบประมาทเรื่องความสามารถและถูกมองว่าเป็นบุคคลเส้นสายจากภาคการเมือง
ประภัสร์ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรฟม. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 - 2551 แต่ในช่วงเวลานี้ก็มีหลายช่วงเวลาสั้นๆ ที่เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จากการแทรกแทรงของภาคการเมือง ซึ่งในระหว่างนั้นนายเยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว รองผู้ว่ารฟม. จะรักษาการแทนเสมอ
พ.ศ. 2551 ประภัสร์ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการฯรฟม.อยู่ ได้รับการทาบทามจากพรรคพลังประชาชน ให้ลงสมัครในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2551 ในนามของตัวแทนจากพรรคพลังประชาชน ซึ่งทำให้เขาต้องลาออกจากการเป็นผู้ว่าการฯรฟม. ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ประภัสร์ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 543,488 คะแนน มากเป็นลำดับสองรองจากอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์
หลังจากการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ประภัสร์เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 เขาได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี และลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประภัสร์ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2555
ในตำแหน่งนี้ เขาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันโครงการปฏิรูประบบราง เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย, รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟทางคู่ โดยเป็นกรรมาธิการพิจารณา พรบ. โครงสร้างพื้นฐานสองล้านล้านบาท ในช่วงการดำรงตำแหน่งผู้ว่ารฟท.ของเขา มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาทิ การรื้อและทำทางรถไฟใหม่ทั้งหมดในเขตภาคเหนือตอนบน, แก้แบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จาก 3 ทางเป็น 4 ทาง, แก้แบบให้สถานีกลางบางซื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง
ในเดือนกรกฎาคม 2557 มีกระแสกดดันจากประชาชนส่วนหนึ่งอย่างรุนแรงให้ประภัสร์ลาออกหลังเกิดเหตุพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อเหตุฆ่าข่มขืนผู้โดยสารในรถไฟแต่เขายืนยันว่าจะไม่ลาออก คณะรัฐประหารจึงมีคำสั่งปลดประภัสร์ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 การปลดเป็นไปในลักษณะเป็นไปเพื่อต้องการความนิยมจากประชาชน เห็นได้จากการที่มีคำสั่งปลดอย่างเร่งรีบและสั้นๆเพียง 3 บรรทัด ผิดจากคำสั่งปลด-โยกย้ายข้าราชการอื่นๆ ที่จะระบุไว้ชัดเจนถึงอำนาจหน้าที่และบุคคลที่มาแทนอย่างชัดเจน[ต้องการอ้างอิง]..